ประวัติ/ความเป็นมาของสถานศึกษา
โรงเรียนช่างอากาศอำรุง เป็นโรงเรียนสามัญศึกษาขนาดกลาง สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และอยู่ในความดูแลด้านวิชาการของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา กรุงเทพมหานคร กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งอยู่ เลขที่ 1 ถนนเตชะวณิช แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร มีเนื้อที่ 12 ไร่ 2 งาน 25 ตารางวา ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของกรมช่างอากาศ
ในสมัย พลอากาศโทหลวงอธึก เทวเดช ผู้บัญชาการทหารอากาศ ครั้งยังดำรงตำแหน่งเจ้ากรมโรงงานทหารอากาศ และอุปนายกสมาคมทหารอากาศ บางซื่อ ได้มอบหมายให้แหล่งสมาคมทหารอากาศจัดตั้งโรงเรียนขึ้น เพื่อเป็นสวัสดิการแก่บุตรหลานของข้าราชการและลูกจ้างของกรมทหารอากาศ โดยรับโอนโรงเรียน “ ประสาทวิทยา 2 ” มาจากนางเปลี่ยน ไชยเขตร (ภรรยาของนายดาบหงษ์ ไชยเขตร ) และเปลี่ยนชื่อโรงเรียน มาเป็น “ โรงเรียนวิศวกรวิทยา ” เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2480 เป็นต้นมา เริ่มแรกเปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นมูลถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 อาคารที่ใช้เรียนเมื่อเริ่มดำเนินการนั้นใช้โรงจอดรถบริเวณหน้าสโมสรนายทหารอากาศปัจจุบัน ในขณะที่โรงเรียนมีชั้นเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 อยู่นั้น มีหลักสูตรประถมการช่างรวมอยู่ด้วยเรียกส่วนที่สอนการช่างนี้ ว่า “ โรงเรียนช่างฝีมือวิศวกรวิทยา ”
ต่อมาในปี พ.ศ. 2484 นาวาอากาศตรีขุนเรือง วิศวกรรม อดีตรองเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารอากาศ ซึ่งเป็นแม่กองโรงเรียนช่างอากาศ มีแนวคิดที่จะรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 เข้าเรียนต่อวิชาช่างอีก 2 ปี จึง ได้ขยายชั้นเรียนเพิ่มขึ้น และให้โรงเรียนเปิดรับนักเรียนชายและหญิงเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาร่วมกันแต่กระทรวง ศึกษาธิการไม่อนุมัติ เพียงแต่อนุญาตให้โรงเรียนเปิดดำเนินการศึกษา เป็นการภายในโดยให้อยู่ในการกำกับดูแลของกรมโรงงานทหารอากาศ แต่สำหรับชั้นประถมศึกษายังคงให้เป็นโรงเรียนราษฎร์เช่นเดิม ดังนั้นโรงเรียนช่างฝีมือวิศวกรวิทยา จึงแยกออกเป็น 2 โรงเรียน คือ โรงเรียนวิศวกรวิทยา ให้เป็นโรงเรียนราษฎร์สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ส่วน โรงเรียนมัธยมช่างฝีมือวิศวกรวิทยา ให้เป็นโรงเรียนในสังกัดของกรมช่างอากาศ กระทรวงกลาโหม
- ปี พ.ศ. 2489 โรงเรียนวิศวกรวิทยาได้จัดตั้งแผนกปฐมวัยขึ้นเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2489 โดยใช้โรงงานด้านหลังสโมสรกรมช่างอากาศ ดัดแปลงเป็นอาคารเรียนมี นางเชื้อชื่น ทิพยวัฒน์ เป็นครูใหญ่แผนกปฐมวัยคนแรก
และต่อมาเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2491 โรงเรียนวิศวกรวิทยาได้รับการรับรองวิทยฐานะเทียบเท่าโรงเรียนรัฐบาลจากกระทรวงศึกษาธิการ จึงนับเป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษาแห่งแรกและแห่งเดียวในพระนคร ที่ได้รับการรับรองวิทยฐานะเทียบเท่าโรงเรียนรัฐบาล
- ปี พ.ศ. 2496 โรงเรียนได้ปรับปรุงแผนงานการปกครองและการจัดระบบการศึกษาใหม่เป็น 3 แผนก คือ แผนกปฐมวัย แผนกประถมศึกษา และแผนกมัธยมศึกษา โดยยุบรวมโรงเรียนวิศวกรวิทยากับโรงเรียนมัธยมช่างฝีมือวิศวกรวิทยาเข้าด้วยกันและให้ใช้ชื่อว่า “ โรงเรียนช่างอากาศอำรุง ” ให้มีครูใหญ่ทำหน้าที่ดูแลปกครองเพียงตำแหน่งเดียวตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
- ปี พ.ศ. 2521 ขณะที่นาวาอากาศเอกวิมาน ธิโสภา ดำรงตำแหน่งผู้จัดการ และมีนางสาวสมจิต พวงจันทร์ ดำรงตำแหน่งครูใหญ่ กรมช่างอากาศได้ยุบชั้นเรียนระดับมัธยมศึกษาลงแล้วขยายชั้นปฐมวัยถึงชั้นประถมศึกษาให้มากขึ้นเพื่อรองรับความนิยมของผู้ปกครองที่ส่งบุตรหลานให้เข้ามาเรียนเป็นจำนวนมาก
เจ้ากรมช่างอากาศ เป็นผู้แทนผู้รับใบอนุญาต เปิดทำการสอนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตั้งแต่ปฐมวัยถึงประถมศึกษาปีที่ 6
สัญลักษณ์ของโรงเรียน
อักษรย่อ | ชอ. |
ปรัชญาโรงเรียน | คุณธรรมเด่น ความรู้ดี มีความสุข ภายใต้เอกลักษณ์ ลูก ชอ. |
คำขวัญ | ปญฺญา โลกสฺมิ ปชฺโชโต ปัญญา คือ แสงสว่างในโลก |
พระพุทธรูปประจำโรงเรียน | พระศรีศากยะทศพลญาณประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์ |
ต้นไม้ประจำโรงเรียน | ต้นคูน |
สีประจำโรงเรียน | สีเทา – ฟ้า |
สีเทา หมายถึง โรงเรียนช่างอากาศอำรุง เป็นหน่วยงานที่จัดการศึกษาให้แก่เยาวชนซึ่งอยู่ในการกำกับดูแลของกรมช่างอากาศ | |
สีฟ้า หมายถึง ความเจริญรุ่งเรืองด้วยการศึกษาที่ก้าวไกลไม่มีที่สิ้นสุด |